ศูนย์น่านศึกษา หออัตลักษณ์นครน่าน

619 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ศูนย์น่านศึกษา  หออัตลักษณ์นครน่าน

บทความโดย ยุทธภูมิ สุประการ
ศูนย์น่านศึกษา หออัตลักษณ์นครน่าน

 

เมืองน่านปรากฏงานหัตถศิลป์ที่สำคัญคือการผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่ “บ้านเตาไหแช่เลียง” ในบริเวณปัจจุบันเป็นแหล่งโบราณคดีที่ชื่อว่าแหล่งเตาบ่อสวก โดย “บ้านเตาไหแช่เลียง” ปรากฏในเอกสารพื้นเมืองน่านหลายฉบับ เช่น ฉบับวัดพระเกิด กล่าวถึงเหตุการณ์การแย่งราชสมบัติระหว่างท้าวแพงกับพญาอินต๊ะแก่นท้าว โดยพญาอินต๊ะแก่นท้าว ซึ่งในขณะนั้นเป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน ถูกท้าวแพงผู้เป็นน้องแย่งชิงราชสมบัติ โดยพญาอินต๊ะแก่นท้าวต้องลี้ภัยไปกรุงศรีอยุธยาผ่านทางหมู่บ้านที่ชื่อว่า “บ้านเตาไหแช่เลียง” ความว่า “…ตกกลางคืนอินทแก่นท้าว หลอนออกจากคอกค้องสอกแล่นหนี้ไปลี้อยู่บ้านเตาไหแช่เลียงหั้น…”

ในปี พ.ศ.๒๕๔๒ - ๒๕๔๘ สายันต์ ไพรชาญจิตต์ แห่งภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีแหล่งเตาบ่อสวกอย่างต่อเนื่อง สามารถทราบเรื่องราวการผลิตของแหล่งเตาแห่งนี้[2] ได้

 

โครงสร้างเตาและอายุสมัย

เตาบ้านบ่อสวกเป็นเตาแบบล้านนา ซึ่งภายในเตามีการแบ่งห้องเตาเพียงห้องเดียว ก่อผนังด้วยดินเหนียว ระบายความร้อนแบบเฉียงจากปากเตาไปยังปล่องเตา โครงสร้างส่วนล่างของเตาฝังจมลงในเนินดิน โครงสร้างส่วนหลังคาและปล่องโผล่พ้นผิวดิน นอกจากนี้ยังพบเตาชื่นซึ่งโครงสร้างเตามีลักษณะคล้ายกับเตาของเมืองศรีสัชนาลัยในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ซึ่งสอดคล้องกับค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ของเตาจ่ามนัสและเตาสุนัน โดยเตาสุนันได้ค่าอายุการใช้งานในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ถึง กลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ส่วนเตาจ่ามนัสได้ค่าอายุการใช้งานในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ถึงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๑ จากข้างต้น นำไปสู่ข้อสันนิษฐานได้ว่าตลอดสมัยของราชวงศ์พูคาปกครองเมืองน่านมีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่หมู่บ้านเตาไหแช่เลียงมาโดยตลอดตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ถึงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๑

 

ผลิตภัณฑ์

ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๐ หมู่บ้านเตาไหแช่เลียงมีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาทั้งจาน ชาม ไห ทั้งแบบไม่เคลือบและเคลือบมีผลิตภัณฑ์ที่สำคัญดังนี้ไหไม่เคลือบ มีทั้งไหปากชั้นเดียว ไหปากสองชั้น (ไหกับหรือไหปลาร้า) โดยในไห ปากชั้นเดียวที่ไหล่ของภาชนะมีการตกแต่งลวดลายด้วยลายขูดขีดเป็นคลื่นน้ำสลับกับแถบเส้นคู่ขนาน และมีการปั้นแปะหูภาชนะจำนวน ๔ จุดถัดจากไหล่ลงไปฐานไม่มีลวดลาย สายันตร์ ไพรชาญจิตต์ สันนิษฐานว่าการตกแต่งลวดลายดังกล่าวเป็นการจำลองภูมิจักรวาลในศาสนาพุทธลงบนภาชนะดินเผา กล่าวคือ ลวดลายของคลื่นน้ำหมายถึงมหาสมุทร ส่วนเส้นคู่ขนานหมายถึงทวีป หูภาชนะหมายถึงทวีปทั้งสี่อันประกอบด้วย บุพวิเทหทวีป (ทวีปฟากตะวันออก) ชมพูทวีป (ทวีปฟากทิศใต้) อมรโคยานทวีป (ทวีปฟากทิศตะวันตก) และอุตรกุรุทวีป (ทวีปฟากทิศเหนือ)  ส่วนไหปากสองชั้นจะมีลวดลายและความหมายที่ละเอียดกว่าไหปากชั้นเดียวกล่าวคือ ปากชั้นนอกเป็นตัวแทนของทวีปหรือแผ่นดิน ปากชั้นในคือแกนกลางเขาพระสุเมรุ ซึ่งไหประเภทหลังนี้มักนำไปใส่เถ้ากระดูกโดนนำเอาภาชนะอีกใบที่เขากันได้กับช่องว่างระหว่างปากไหชั้นที่หนึ่งและสองมาปิดปากไหเอาไว้



ไหปากชั้นเดียวแหล่งเตาไหแช่เลียง (บ่อสวก) ตกแต่งด้วยลวดลายขูนขีดและปั้นแปะ
ที่มา : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน กรมศิลปากร


เตาเผาบ่อสวก อุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผาของนครน่าน

เมืองน่านปรากฏงานหัตถศิลป์ที่สำคัญคือการผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่ “บ้านเตาไหแช่เลียง”  ในบริเวณปัจจุบันเป็นแหล่งโบราณคดีที่ชื่อว่าแหล่งเตาบ่อสวก โดย “บ้านเตาไหแช่เลียง” ปรากฏในเอกสารพื้นเมืองน่านหลายฉบับ เช่น ฉบับวัดพระเกิด กล่าวถึงเหตุการณ์การแย่งราชสมบัติระหว่างท้าวแพงกับพญาอินต๊ะแก่นท้าวใน โดยพญาอินต๊ะแก่นท้าวซึ่งในขณะนั้นเป็นเจ้าผู้ครองนครน่านถูกท้าวแพงผู้เป็นน้องแย่งชิงราชสมบัติ โดยพญาอินต๊ะแก่นท้าวต้องลี้ภัยไปกรุงศรีอยุธยาผ่านทางหมู่บ้านที่ชื่อว่า “บ้านเตาไหแช่เลียง” ความว่า “…ตกกลางคืนอินทแก่นท้าว หลอนออกจากคอกค้องสอกแล่นหนี้ไปลี้อยู่บ้านเตาไหแช่เลียงหั้น…

การตีความลวดลายภาชนะดินเผาเตาไหแช่เลียงแบบไหปากชั้นเดียวในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๑

ที่มา : สายันต์ ไพรชาญจิตร์, โบราณคดีเครื่องถ้วยในสยามแหล่งเตาล้านนาและสุพรรณบุรี (กรุงเทพฯ : โครงการศิลปากรพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๔), ๙๔.

ไหกับหรือไหของปากสองชั้น แหล่งเตาไหแช่เลียง (บ่อสวก) ตกแต่งด้วยลวดลายขูนขีด

ที่มา : สายันต์ ไพรชาญจิตร์, โบราณคดีเครื่องถ้วยในสยามแหล่งเตาล้านนาและสุพรรณบุรี (กรุงเทพฯ : โครงการศิลปากรพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๔), ๗๔.

การตีความลวดลายภาชนะดินเผาเตาไหแช่เลียงแบบไหขอบปากสองชั้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๑

ที่มา : สายันต์ ไพรชาญจิตร์, โบราณคดีเครื่องถ้วยในสยามแหล่งเตาล้านนาและสุพรรณบุรี (กรุงเทพฯ : โครงการศิลปากรพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๔), ๙๕.

 

ไหที่ตกแต่งด้วยชุดแถบลายผสม ส่วนใหญ่ใช้ตกแต่งภาชนะประเภทสันปากบานออก ไหกับหรือไหปากสองชั้น โดยการตกแต่งลวดลายจะใช้วิธีการกดประทับรูปต่อเนื่องกันเป็นแถบลายมีทั้งลายขนมเปียกปูน ลายกากบาท ลายเส้นหยักคล้ายลายน้ำ เป็นต้น โดยระหว่างลายแถบแต่ละเส้นจะมีแถบเส้นบางๆ คั้นเอาไว้ และที่ปากไหจะการปั้นแปะดินรูปวงกลมไว้รอบปาก หรือปั้นหูไว้บริเวณไหล่เป็นต้น

 

การตกแต่งลวดลายแถบเครื่องถ้วยบ่อสวกในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ -๒๑

ที่มา : สายันต์ ไพรชาญจิตร์, โบราณคดีเครื่องถ้วยในสยามแหล่งเตาล้านนาและสุพรรณบุรี (กรุงเทพฯ : โครงการศิลปากรพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๔), ๗๒.

 

เครื่องเคลือบยุคแรก เป็นภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งประเภทจาน ชาม และไห ส่วนใหญ่เป็นเครื่องเคลือบสีเขียว เคลือบมีลักษณะแตกลาน ไม่ประณีตนัก

เครื่องถ้วยบ่อสวกแบบเคลือบเขียวในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ -๒๑

ที่มา : สายันต์ ไพรชาญจิตร์, โบราณคดีเครื่องถ้วยในสยามแหล่งเตาล้านนาและสุพรรณบุรี (กรุงเทพฯ : โครงการศิลปากรพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๔), ๘๘ และ ๙๐.

 

สมัยที่ ๓ ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๒ เป็นงานศิลปกรรมที่สร้างขึ้นเมื่อเมืองน่านตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐล้านนาหลังจากที่พระเจ้าติโลกราชพิชิตเมืองน่านได้ในปี พ.ศ. ๑๙๙๓ ในรัชสมัยของท้าวอินทะแก่น เจ้าผู้ครองนครน่าน งานศิลปกรรมเมืองน่านได้รับอิทธิพลจากศิลปะล้านนาอย่างเต็มที่ทั้งด้านสถาปัตยกรรมและประติมากรรม ประติมากรรมหลายชิ้นยังคงมีต้นแบบมาจากศิลปะสุโขทัยในสมัยที่ ๒ แต่ผสมผสานเข้ากับศิลปะล้านนา รวมทั้งลักษณะพื้นถิ่นที่ปรากฏในงานศิลปกรรมมากกว่าสมัยที่ ๒ นอกจากนี้ยังมีอิทธิพลจากศิลปะอยุธยาโดยเฉพาะในงานประติมากรรมเข้ามาอีกด้วย ศิลปะลาวเข้ามามีอิทธิพลบางในส่วนงานสถาปัตยกรรม ส่วนงานหัตถศิลป์ถือเป็นยุคทองของการผลิตเครื่องถ้วยบ้านเตาไหแช่เลียง (บ้านบ่อสวก) ที่มีการพัฒนาเทคนิคการผลิตและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้นจากสมัยที่ ๒ สมัยนี้สิ้นสุดลงเมื่อรัฐล้านนาถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรพม่าในรัชสมัยของพญาหลวงพลเทพลือไชยเจ้าผู้ครองนครน่านราวปี พ.ศ. ๒๑๐๑[1]

 
งานหัตถศิลป์

การผลิตเครื่องปั้นดินเผามีการคิดค้นเทคนิคการเผาใหม่โดยการใช้กล่องดินหรือจ๊อ โดยเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการบรรจุภาชนะตั้งเรียงในเตาเผา เป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่โดดเด่นของโบราณคดีเครื่องถ้วยไทยโดยเป็นเทคนิคที่ช่วยควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์และปริมาณการผลิต ยังไม่พบแหล่งเตาใดในประเทศไทยที่ใช้เทคนิควิธีนี้[2] ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นทำให้ผลิตภัณฑ์ของเตาบ่อสวกมีหลายหลายชนิดทั้งจาน ชาม ไห ตุ๊กตา ฯลฯ และการทำเคลือบมีความสวยงามและหลายหลายมากกว่าสมัยที่ ๒ อย่างมากเช่นเคลือบสีขาวนวลและสีเขียวนวลเป็นต้น  สำหรับผลิตภัณฑ์ชิ้นเด่นที่สุดของเตาบ่อสวกในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑- ๒๒ คือไหเนื้อแกร่งเคลือบสีเขียวนวลที่ประดับไหล่ภาชนะด้วยการปั้นแปะ “ลายนกเมืองน่าน” ซึ่งถือเป็นลวดลายที่มีเอกลักษณ์ที่สุดของเมืองน่าน โดยเป็นกรอบลายคล้ายกลีบบัวหรืออินทธนู ภายในกรอบลายรูปนกฮูกหรือนกเค้าแมว[3]



[1] สรัสวดี อ๋องสกุล, พื้นเมืองน่าน : ฉบับวัดพระเกิด (กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง, ๒๕๓๙), ๑๙..
[2] สายันต์ ไพรชาญจิตร์, โบราณคดีเครื่องถ้วยในสยามแหล่งเตาล้านนาและสุพรรณบุรี (กรุงเทพฯ : โครงการศิลปากรพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๔), ๙๘-๙๙.
[3] เรื่องเดียวกัน, ๑๐๙.

 

เศษไหเนื้อแกร่งเคลือบสีเขียวนวลที่ประดับไหล่ภาชนะด้วยการปั้นแปะ “ลายนกเมืองน่าน”

ที่มา : สายันต์ ไพรชาญจิตร์, โบราณคดีเครื่องถ้วยในสยามแหล่งเตาล้านนาและสุพรรณบุรี (กรุงเทพฯ : โครงการศิลปากรพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๔), ๑๑๕.

 

บรรณานุกรม

สรัสวดี อ๋องสกุล, พื้นเมืองน่าน : ฉบับวัดพระเกิด (กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง, ๒๕๓๙), ๑๓.

สายันต์ ไพรชาญจิตร์, โบราณคดีเครื่องถ้วยในสยามแหล่งเตาล้านนาและสุพรรณบุรี (กรุงเทพฯ : โครงการศิลปากรพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๔), ๔๑-๙๕.

สรัสวดี อ๋องสกุล, พื้นเมืองน่าน : ฉบับวัดพระเกิด (กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง, ๒๕๓๙), ๑๙.

สายันต์ ไพรชาญจิตร์, โบราณคดีเครื่องถ้วยในสยามแหล่งเตาล้านนาและสุพรรณบุรี (กรุงเทพฯ : โครงการศิลปากรพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๔), ๙๘-๙๙.เรื่องเดียวกัน, ๑๐๙.

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้