2106 Views |
นางศุภรดา กานดิศยากุล รองผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 อพท. เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการออกแบบเครื่องมือและวางแผนในการพัฒนาชุมชนหัวเวียงใต้สู่การเป็นย่านสร้างสรรค์ โดยมีภาคีเครือข่ายศิลปิน นักออกแบบ ปราชญ์ชุมชน ผู้ประกอบการ เยาวชน แกนนำชุมชนหัวเวียงใต้ ประชาชน สื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่ อพท.6 จำนวน 30 คน เข้าร่วมการอบรมและฝึกปฏิบัติจริงอย่างเข้มข้น ณ ห้องประชุมสำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 อพท. ต.ผาสิงห์ อ.เมืองน่าน และพื้นที่ชุมชนบ้านหัวเวียงใต้ โดยมีมาตรการทางสาธารณสุขเพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
นายณัฐกิตต์ กุมพะยาน เจ้าหน้าที่พัฒนาพื้นที่พิเศษ อพท.6 กล่าวว่า การอบรมดังกล่าว เพื่อเตรียมพัฒนาชุมชนหัวเวียงใต้ พื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน ซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจเก่าแก่ดั้งเดิม มีทรัพยากรต้นทุนชุมชนหลากหลาย สู่การเป็นย่านสร้างสรรค์ ตามแผนดำเนินกิจกรรมพัฒนาปรับปรุงองค์ประกอบเมืองสร้างสรรค์ ภายใต้โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและวิทยากรมืออาชีพ ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฤทธิรงค์ จุฑาพฤฒิกร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ และการพัฒนาพื้นที่อย่างมีส่วนร่วม อาจารย์สุขสันติ์ ชื่นอารมย์ หัวหน้าศูนย์วิจัยสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมและสภาแวดล้อม (RCCAB) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมือง และพื้นที่ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อาจารย์สุดตาภา ใจแสน อาจารย์พิเศษ ภาควิชาสถาปัตยกรรมภายใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบพื้นที่ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทีมคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบสภาพแวดล้อมตามแนวคิดอารยสถาปัตย์ ซึ่งเป็นทีมคณาจารย์ที่มีผลงานการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ระดับประเทศ อาทิเช่น การพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ย่านเจริญกรุง กรุงเทพฯ และอีกหลายพื้นที่
โดยตลอดการฝึกอบรมมีการบรรยายให้ความรู้เชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “แนวทางการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ เรียนรู้ตัวอย่างการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ในประเทศไทย และต่างประเทศ” หัวข้อ “เครื่องมือในการพัฒนาย่านสร้างสรรค์” พร้อมทั้งลงพื้นที่ชุมชนหัวเวียงใต้ เพื่อ workshop การเลือกเครื่องมือในการพัฒนาชุมชนย่านหัวเวียงใต้สู่การเป็นย่านสร้างสรรค์ และการวางแผนออกแบบกิจกรรมในการพัฒนาชุมชนย่านหัวเวียงใต้สู่การเป็นย่านสร้างสรรค์ และนำเสนอแผนกิจกรรมในการพัฒนาชุมชนย่านหัวเวียงใต้สู่การเป็นย่านสร้างสรรค์
ทั้งนี้หลังการอบรมเชิงปฏิบัติการ ภาคีเครือข่ายและเจ้าหน้าที่ อพท.6 จะใช้เครื่องมือและกระบวนการที่ได้เรียนรู้ ลงพื้นที่ชุมชนหัวเวียงใต้ เพื่อวางแผนพัฒนาเป็นต้นแบบย่านสร้างสรรค์ รวมทั้งการสร้างบรรยากาศของเมืองน่าน ให้มีย่านสร้างสรรค์ที่สนับสนุนและส่งเสริมการขับเคลื่อนเมืองน่านสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ของยูเนสโก ในรอบการเปิดรับสมัครปี 2566