3368 จำนวนผู้เข้าชม |
“เมืองน่าน” เดิมเป็นนครรัฐเล็กๆ ที่มีอายะการก่อร่างสร้างเมืองมายาวนานกว่า 700 ปี มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ปรากฏอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นศูนย์กลางของศิลปวัฒนธรรมแห่งดินแดนล้านนาตะวันออก มีศิลปวัฒนธรรมอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ทั้งด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม ศิลปกรรมต่างๆ ตลอดจนขนบธรรมเนียม จารีตประเพณีอันดีงาม รวมถึงศิลปะการแสดง
ชาวน่านมีสุภาษิตพื้นเมืองที่กล่าวสืบทอดกันมาว่า เสียงสวรรค์ของเองน่าน คือ “เสียงฆ้องเสียงกลอง” “เสียงมองตำข้าว” (เสียงครกกระเดื่องตำข้าว) และ “เสียงตุ้เจ้าอ่านธัมม์” (เสียงพระสงฆ์สวดาสธยายธรรมะ) สามเสียงนี้สอดคล้องกันให้ผู้ที่ได้ยินเห็นภาพของความเป็นเมืองสวรรค์ได้ยอางงดงาม กล่าวคือ ตราบใดที่สมณชีพราหมณ์ยังคงพร่ำสอนศีลธรรมขัดเกลาจิตใจอย่างเคร่งครัด และตราบใดเสียงฆ้องดนตรีประโคมและ “กลองบูชา” ยังดังกังวานเป็นพุทธบูชาอยู่ทุกเมื่อ ตราบนั้นบ้านเมืองก็จะยังรุ่งเรืองเป็นเมืองสวรรค์ได้เสมอ
กลองบูชา (ปูจา) หนึ่งในเสียงสวรรค์ของเมืองน่าน เป็นกลองประจำวัดในอาณาจักรล้านนามาแต่โบราณ ใช้ตีเพื่อเป็นพุทธบูชาและงานประเพณีต่างๆ กลองบูชามีเอกลักษณ์เฉพาะการตีอยู่ 2 ลักษณะ คือ การตีแบบพุทธบูชา เป็นการตีที่ใช้ฆ้องโย่ง (โหม่ง) ฆ้องอุ้ย (หุ้ย) ฆ้องเล็กสว่า (ฉาบ) และการตีแบบสะบัดชัย เป็นการตีที่ใช้ไม้แซะ ประกอบการตี ดังนั้น กลองบูชาจึงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของเมืองน่าน ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ควรค่าแก่การอนุรักษณ์สืบทอด และฟื้นฟูให้เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมส่งต่อให้แก่อนุชนรุ่นหลัง
เมืองน่านในปัจจุบันยังคงเป็นศูนย์กลางแห่งดินแดนล้านนาตะวันออกที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่ามากมาย ล้วนแล้วแต่เป็นทรัพยากรการท่องเที่ยวที่โดดเด่นควรค่าแก่การชื่นชมทัศนา เป็นที่หมายในฝันของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก และชาวน่านในฐานะเจ้าของมาดกวัฒนธรรมยังคงมุ่งมั่นที่จะร่วมกันรักษาเสียงสวรรค์นี้ให้ก้องกังวานอยู่คู่เมืองน่านอย่างยั่งยืนสืบไป