19 มี.ค. 2564 - 21 มี.ค. 2564
"กาดกำแพงเมืองเก่าน่าน" สร้างบรรยากาศเมืองวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน เตรียมความพร้อมเข้าประเมินการเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO
• องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. โดยสำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 บูรณาการความร่วมมือกับ กรมธนารักษ์ ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดน่าน ททท.สำนักงานน่าน เทศบาลเมืองน่าน และกองทุนพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวบริเวณกำแพงเมือง – คูเมืองเก่าน่าน ภายใต้แนวคิด "กาดกำแพงเมืองเก่าน่าน" เพื่อเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Space) ด้านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านจังหวัดน่าน ในบรรยากาศความเป็นเมืองเก่าที่มีชีวิต ยังหลงเหลือหลักฐานและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ผ่านก้อนอิฐบนกำแพงเมืองและร่องรอยคูเมือง ในวันที่ 19-21 มีนาคม 2564 ณ บริเวณกำแพงเมือง – คูเมืองน่าน บ้านมงคล ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน โดยมีกิจกรรม Workshop งานหัตถกรรมที่ประสบความสำเร็จด้านธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ การจัดแสดงนิทรรศการกว่า 30 ชุด เวทีเสวนา และการจัดแสดงแสง สี เสียง ละครอิงประวัติศาสตร์ เรื่อง “ลำต้ายคือเวียงกำแพงเมือง อดีตที่เรือเรืองสู่ตำนานที่หลับใหลในน่าน” ที่จะสร้างการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเมืองน่านสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ซึ่งเมืองน่านมีกำหนดยื่นใบสมัครให้ UNESCO พิจารณาให้การรับรองในปี 2564
• นายสุขสันต์ เพ็งดิษฐ์ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 กล่าวว่า เมืองเก่าน่าน เป็นพื้นที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่บริเวณใจเมืองน่าน ยังคงปรากฏอาคารสำคัญที่เป็นเอกลักษณ์ ได้แก่ วัด คุ้มเจ้า กำแพงเมือง คูเมือง คลอง สะพาน และย่านชุมชน ผู้คนยังสืบสานรักษาประเพณีวัฒนธรรมพื้นถิ่นดั้งเดิมและนำมาใช้สอยในวิถีชีวิตปัจจุบัน จินตภาพของเมืองยังคงมีความเป็นของแท้ดั้งเดิมที่ชัดเจน เนื่องจากชุมชนที่มีความเข้มแข็งในการร่วมกันสร้างบรรยากาศเมืองเก่าที่มีชีวิต เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณค่าความสำคัญทางประวัติศาสตร์ พุทธศาสนา ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตชุมชน และภูมิปัญญาท้องถิ่น อันเป็นองค์ประกอบของเมืองที่หาได้ยาก ประกอบกับภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีนโยบายการพัฒนาให้คงอยู่อย่างยั่งยืน โดย อพท. เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการประสาน ส่งเสริม และสนับสนุนการให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของภาคีพัฒนาทุกภาคส่วน ซึ่งปัจจุบันจังหวัดน่าน เตรียมความพร้อมเข้าในการสมัครเข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ในปี 2564 พร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้ได้รับการยกระดับมาตรฐานความยั่งยืนตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) โดยได้รับรางวัลการันตรีในระดับสากล มีมาตรฐานด้านสุขอนามัย (SHA) ตามรูปแบบการท่องเที่ยวิถีใหม่ (New Normal) มีมาตรความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวและรองรับการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Universe design)
• สำหรับกิจกรรม "กาดกำแพงเมืองเก่าน่าน" เป็นการฟื้นฟูพื้นที่ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองน่าน ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ภายใต้บรรยากาศเมืองเก่าที่มีชีวิต เป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงระบบนิเวศเพื่อรองรับการเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน เป็นการสร้างการรับรู้และสร้างการมีส่วนร่วม ให้ประชาชนเกิดความตระหนักรู้ในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่บริเวณกำแพงเมือง-คูเมือง ให้เกิดการใช้ประโยชน์เชิงสร้างสรรค์และยั่งยืนอย่างเหมาะสม ส่งเสริมให้ศิลปินผู้ผลิตผลงานหัตถกรรมในพื้นที่จังหวัดน่านมีพื้นที่ในการจัดแสดงและจำหน่ายผลงาน สร้างพื้นที่เพื่อบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์แก่เยาวชนและผู้สนใจทั่วไป สร้างเสริมกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในเขตพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน พัฒนาทักษะบุคลากรให้มีความพร้อมรองรับการบริหารจัดการเมืองน่านในฐานะสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO และพัฒนาทักษะการสร้างสรรค์งานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านแก่กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง เพื่อเสริมสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ชุมชนบนพื้นที่สูง และเป็นโอกาสที่ อพท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวแก่นักท่องเที่ยวให้เกิดความเข้าใจในความหลากหลายทางวัฒนธรรมในจังหวัดน่านมากขึ้น โดยคาดว่าจะมีประชาชนและเยาวชนทั้งในจังหวัดน่า และจังหวัดใกล้เคียง นักท่องเที่ยว ตัวแทนชุมชนในเขตพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่านและในพื้นที่จังหวัดน่าน เข้าร่วมงานมากกว่า 600 คน ตลอดการจัดงาน 3 วัน